วันเสาร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2553

กฎหมายลักษณะยืม

กฎหมายลักษณะยืม

สัญญายืม มีลักษณะทั่วไปที่สำคัญดังนี้
1. เป็นเอกเทศสัญญาลักษณะหนึ่ง
2. เป็นสัญญา “ไม่” ต่างตอบแทน
3. เป็นสัญญาที่บริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ให้ยืม
4. เป็นสัญญาซึ่งมีวัตถุแห่งสัญญาเป็นทรัพย์สิน
สัญญายืม ตาม ปพพ. แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
- ยืมใช้คงรูป
- ยืมใช้สิ้นเปลือง

ยืมใช้คงรูป

วางหลักไว้ว่า “ยืมใช้คงรูป คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืม ให้ผู้ยืมใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้น เมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว”

สัญญายืมใช้คงรูป นอกจากมีลักษณะทั่วไปของสัญญายืมแล้ว ยังมีลักษณะเฉพาะ ดังนี้

(1) เป็นสัญญาที่ไม่มีค่าตอบแทน
- จึงเป็นสัญญาที่ทำขึ้นโดยถือตัวบุคคลผู้ยืมเป็นสำคัญ (เมื่อผู้ยืมตาย สัญญาระงับ ตาม ม.648)
- เพราะไม่มีค่าตอบแทน จึงต้องกำหนดหน้าที่ของผู้ยืมไว้หลายประการ

(2) เป็นสัญญาที่ไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์
- ผู้ให้ยืมอาจไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สิน หรือเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ให้ยืม
- หากทรัพย์สินที่ให้ยืมสูญหายหรือบุบสลายไปโดยมิใช่ความผิดของผู้ยืม ผู้ยืมไม่ต้องรับผิด
ดังนั้น อธิบายหลักกฎหมายได้ ดังนี้

- เกิดจากบุคคล 2 ฝ่าย คือ ผู้ยืมและผู้ให้ยืม
- ผู้ให้ยืม “ตกลง” ให้ผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์สินที่ให้ยืม (กรรมสิทธิ์ยังไม่ได้โอน)
- เป็นการให้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นแบบได้เปล่า กล่าวคือไม่ต้องเสียค่าตอบแทน
- ผู้ยืม “ตกลง” จะส่งทรัพย์สินที่ยืมนั้นคืนเมื่อใช้สอยเสร็จแล้ว
- สัญญาจะบริบูรณ์เมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม

ด้วยเหตุที่เป็นสัญญาไม่มีค่าตอบแทน สัญญายืมใช้คงรูปจึงก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่หลายประการแก่บุคคลทั้ง 2 ฝ่าย ดังนี้คือ
1. หน้าที่ของ “ผู้ยืม” ใช้คงรูป
(1) หน้าที่เสียค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น
- ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียม ค่าส่งมอบและค่าส่งคืนทรัพย์สินที่ยืม
- ต้องเสียค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาทรัพย์สินที่ยืม

(2) หน้าที่ในการใช้ทรัพย์สินที่ยืม กล่าวคือ
- ต้องใช้ทรัพย์สินที่ยืมมานั้นอย่างปกติที่วิญญูชนพึงใช้กัน
- ต้องใช้ทรัพย์สินที่ยืมมานั้นด้วยตนเอง จะเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้ไม่ได้
- ต้องไม่ใช้ทรัพย์สินที่ยืมนานั้นนานกว่าที่ควร
- ต้องรับผิดเมื่อทรัพย์สินที่ยืมสูญหายหรือบุบสลาย เว้นแต่จะไม่ใช่ความผิดของผู้ยืม

(3) หน้าที่ในการสงวนรักษาทรัพย์สินที่ยืม กล่าวคือ ผู้ยืมต้องสงวนทรัพย์สินที่ยืมเสมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตน…..เพราะสัญญายืมใช้คงรูปเป็นสัญญาที่กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ยืมยังไม่ได้โอนไปยังผู้ยืม

(4) หน้าที่ในการคืนทรัพย์สินที่ยืม ตอนท้าย

2. หน้าที่ของ “ผู้ให้ยืม” ใช้คงรูป
(1) ต้องบอกกล่าวให้ผู้ยืมทราบ ถ้าทรัพย์สินที่ให้ยืมมีรายการชำรุดบกพร่องหรือบุบสลาย
(2) ต้องไม่ขัดขวางผู้ยืมในการใช้สอยทรัพย์สินตามสัญญา
(3) ต้องรับผลแห่งภัยพิบัติในทรัพย์สินที่ให้ยืม หากเกิดบุบสลายหรือสูญหายไปเนื่องมาจากการใช้โดยปกติสุข และไม่ใช่ความผิดของผู้ยืม
(4) ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อเป็นการรักษาทรัพย์สินที่ให้ยืม ซึ่งมิใช่เป็นการบำรุงรักษาตามปกติ
สัญญายืมใช้คงรูปอาจ “ระงับไป” ในกรณีต่อไปนี้
- เมื่อมีการส่งคืนทรัพย์สินที่ยืม ตาม ม.640 ตอนท้าย
- เมื่อผู้ให้ยืมใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา
- เมื่อสัญญามิได้กำหนดเวลากันไว้ และเวลาได้ล่วงไปพอสมควร ผู้ให้ยืมใช้สิทธิบอกเลิก
สัญญา - เมื่อผู้ยืมตาย เพราะเป็นสัญญาที่ถือตัวผู้ยืมเป็นสำคัญ ……….(กรณีกลับกัน ถ้าผู้ให้
ยืมตาย สัญญายืมไม่ระงับ)
- เมื่อทรัพย์สินที่ยืมอันเป็นวัตถุแห่งสัญญายืมสูญสิ้นไป

สัญญายืมใช้คงรูป มีประเด็นน่าสนใจที่เกี่ยวกับ “อายุความ” ดังนี้

1. กรณีผู้ให้ยืมฟ้องร้อง “เรียกเอาทรัพย์สิน” ตามสัญญา เกิดขึ้นได้ใน 2 กรณี คือ
(1) ผู้ให้ยืมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ให้ยืม และใช้สิทธิ ติดตามและ
เรียกเอาทรัพย์สินของตนคืน ……ด้วยอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ จึงไม่มีกำหนดอายุความ
(2) กรณีผู้ให้มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ให้ยืม หรือเป็นเจ้าของแต่ได้อาศัยสิทธิ
ตามสัญญายืมใช้คงรูป ……ใช้หลักอายุความทั่วไป คือ อายุความ 10 ปี
2. กรณีผู้ให้ยืมฟ้องร้อง “เรียกค่าทดแทน” ตามสัญญา …กำหนดอายุความไว้ 6 เดือน นับ
แต่วันสิ้นสัญญา

ยืมใช้สิ้นเปลือง
เพื่อความเข้าใจในเรื่องยืมใช้สิ้นเปลืองให้กระจ่างขึ้น ควรบทบัญญัติออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. การยืมทรัพย์ ได้แก่
1.1 ยืมทรัพย์ (บททั่วไป)
1.2 สิทธิและหน้าที่ของผู้ยืม / ผู้ให้ยืม
2. การกู้ยืมเงิน ได้แก่
2.1 ยืมเงิน
2.2 ดอกเบี้ยเงินกู้
2.3 ดอกเบี้ยทบต้น
2.4 กู้ยืมเงิน แต่ยอมรับเอาของทรัพย์สินแทนเงิน


1. การยืมทรัพย์
1.1 ยืมทรัพย์ (บททั่วไป)
ม.650 วางหลักไว้ว่า “ยืมใช้สิ้นเปลือง คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้น เป็นปริมาณมีกำหนดให้แก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น ทั้งนี้จะบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืมนั้น”
สัญญายืมใช้สิ้นเปลือง ตาม ม.650 นอกจากมีลักษณะทั่วไปของสัญญายืม 4 ประการแล้ว ยังมีลักษณะเฉพาะ ดังนี้
(1) อาจเป็นสัญญามีค่าตอบแทนก็ได้
- จึงเป็นสัญญาที่ใกล้เคียงกับสัญญาเช่าทรัพย์ แต่ต่างกันที่สัญญาเช่าทรัพย์ไม่มีการโอน
กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่า
- แม้มีค่าตอบแทนเกิดขึ้น ก็ไม่ทำให้กลายเป็นสัญญาต่างตอบแทน
(2) เป็นสัญญาที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ยืม
- ผู้ให้ยืมต้องเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์หรือเป็นเจ้าของในทรัพย์สินที่ให้ยืมนั้น
- ผู้ยืมจะใช้สอยทรัพย์สินนั้นอย่างไรก็ได้
- หากทรัพย์สินที่ให้ยืมสูญหายหรือบุบสลายไป ผู้ยืมต้องรับผิด
- การคืนทรัพย์สินที่ยืม ต้องคืนทั้งประเภท ชนิด และปริมาณเดียวกันแทน
หลักกฎหมาย – เป็นสัญญาที่เกิดจากบุคคล 2 ฝ่าย คือ ผู้ยืมและผู้ให้ยืม
- ผู้ให้ยืม “โอนกรรมสิทธิ์” ในทรัพย์สินให้ผู้ยืมแล้ว
- ทรัพย์สินที่ให้ยืมนั้น มีจำนวนที่กำหนดไว้แน่นอน
- เป็นทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไป หรือทรัพย์สินชนิดใช้สิ้นเปลือง
- ผู้ยืมตกลงจะส่งทรัพย์สินคืนทั้ง “ประเภท ชนิด และปริมาณ” เดียวกันแทน
- สัญญาจะบริบูรณ์เมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม

1.2 สิทธิและหน้าที่ของผู้ยืม / ผู้ให้ยืม
ม.651 วางหลักเกี่ยวกับหน้าที่ของผู้ยืมไว้ว่า “ผู้ยืมเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญา ค่าส่งมอบและค่าส่งคืนทรัพย์สินที่ยืม”

ม.652 วางหลักเกี่ยวกับหน้าที่ของผู้ให้ยืมไว้ว่า “ถ้าเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดเวลาให้คืนทรัพย์สินที่ให้ยืม ผู้ให้ยืมจะบอกกล่าวแก่ผู้ยืมให้คืนทรัพย์สินภายในเวลาอันควร โดยกำหนดไว้ในคำบอกกล่าวนั้น”

จากบทบัญญัติทั้ง 2 มาตรา ก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้ยืมและผู้ให้ยืม ดังนี้
(1) สิทธิของ “ผู้ยืม” ใช้สิ้นเปลือง ได้แก่
- สิทธิใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมโดยอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ ตาม ม.1336
- สิทธิต้องรับผลพิบัติ หากทรัพย์สินที่ยืมเกิดความสูญหายหรือบุบสลาย
(2) หน้าที่ของ “ผู้ยืม” ใช้สิ้นเปลือง ได้แก่
- หน้าที่ในการเสียค่าใช้จ่าย ตาม ม.651
- หน้าที่ในการส่งคืนทรัพย์สินเมื่อครบกำหนดเวลาที่ยืม ตาม ม.652
(3) สิทธิของ “ผู้ให้ยืม” ใช้สิ้นเปลือง
- สิทธิในการเรียกคืนทรัพย์สินที่ให้ยืม
- สิทธิในการเรียกใช้ราคาทรัพย์สินที่ให้ยืม (กรณีทรัพย์สินที่ให้ยืมสูญหาย)
- สิทธิเรียกค่าเสียหาย (กรณีทรัพย์สินที่ให้ยืมบุบสลาย)
(4) หน้าที่ของ “ผู้ให้ยืม” ใช้สิ้นเปลือง
- ไม่ขัดขวางผู้ยืมในการใช้ทรัพย์สินที่ให้ยืม
- ต้องบอกกล่าวให้ผู้ยืมได้ทราบถึงความบุบสลายหรืออันตรายแห่งทรัพย์สินที่ให้ยืม

2. การกู้ยืมเงิน
2.1 ยืมเงิน
ม.653 ว.1 วางหลักไว้ว่า “การกู้ยืมเงินเกินกว่าสองพันบาทขึ้นไป ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องบังคับคดีกันไม่ได้”
หลักกฎหมาย – กฎหมายแก้ไขวงเงินจากเดิม 50 บาท เป็น 2,000 บาท
- การกู้ยืมเงินไม่ว่าจะจำนวนเท่าใด จะมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือไม่มีก็ได้
- แต่การกู้ยืมเงินเกินกว่า 2,000 บาท (ไม่รวม 2,000 บาท) ถ้าไม่มีหลักฐานเป็น
หนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องบังคับคดีกันไม่ได้
- หลักฐานเป็นหนังสือไม่ใช่แบบ แต่อาจเป็นหลักฐานอะไรก็ได้ เช่น จดหมาย
บันทึกการเป็นหนี้ รายงานการประชุม ฯลฯ สิ่งสำคัญคือ ต้องมีข้อความแสดง
การเป็นหนี้สินและลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญก็เพียงพอแล้ว
- การกู้ยืมเงินไม่เกิน 2,000 บาท ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็ฟ้องร้องบังคับคดีกัน
ได้ โดยสามารถนำสืบพยานบุคคลได้

ม.653 ว.2 วางหลักไว้ว่า “การกู้เงินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น จะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมี
หลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว”
หลักกฎหมาย – การกู้ยืมเงินตามความหมายในวรรคนี้ ไม่คำนึงว่าจะวงเงินกู้จะเป็นจำนวนเท่าใด
จะน้อยกว่าหรือมากกว่า 2,000 บาทก็ได้
- แต่เงื่อนไขสำคัญคือ เมื่อใดที่การกู้เงินมีหลักฐานเป็นหนังสือ การนำสืบการใช้
เงินแก่ผู้ให้ยืมก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วยเช่นกัน
- หลักฐานเป็นหนังสือเหล่านี้ ได้แก่
* เอกสารใดๆ ที่ลงลายมือชื่อของผู้ให้ยืมเป็นสำคัญ …..เช่น ใบเสร็จรับเงิน
จดหมาย บันทึกใดๆ ฯลฯ
* สัญญากู้ยืมเงินที่ผู้ให้กู้ส่งคืนให้ผู้ยืม …..การส่งคืนต้องเป็นเจตนาของผู้ให้ยืม
* การบันทึกการชำระหนี้ลงในสัญญากู้ยืมเงิน ……ผู้ให้ยืมเป็นผู้แทงเพิกถอน
- เนื่องจากเป็นการนำสืบ “การใช้เงิน” ชำระหนี้ให้แก่ผู้ให้ยืม จึงไม่สามารถนำไป
ใช้บังคับตาม ม.656 ว.2 ซึ่งเป็นกรณีการชำระหนี้ด้วยสิ่งของหรือทรัพย์สิน
- กรณีการชำระหนี้ด้วยสิ่งของหรือทรัพย์สินแทนเงินนั้น ถ้าหากผู้ให้กู้ยอมรับการ
ชำระหนี้ด้วยสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นแทนเงิน ก็ย่อมกระทำได้ตาม ม.321

2.2 ดอกเบี้ยเงินกู้
ม.654 วางหลักไว้ว่า “ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ย
เกินกว่านั้น ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี”
หลักกฎหมาย – กรณีที่สัญญากู้ยืมเงินไม่ได้กำหนดเรื่องอัตราดอกเบี้ยไว้ ให้คิดอัตราดอกเบี้ย
ร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ม.7
- กรณีที่สัญญากู้ยืมเงินกำหนดเพียงว่า ให้เรียกดอกเบี้ยได้ตามกฎหมาย ให้คิด
อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ม.7
- กรณีที่สัญญากู้ยืมเงินกำหนดเรื่องอัตราดอกเบี้ยไว้ ให้คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน
ร้อยละ 15 ต่อปี
- กรณีที่สัญญากู้ยืมเงินได้ตกลงเรื่องอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ดอกเบี้ย
เป็นโมฆะทั้งหมด และต้องลดลงมาเป็นร้อยละ 15 ต่อปี
- ดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินเป็นโมฆะเพราะเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ ผู้ให้กู้
ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตั้งแต่วันทำสัญญา
- การคิดดอกเบี้ยการกู้ยืมเงินในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปีนั้น มีเฉพาะในการกู้ยืม
เงินระหว่างเอกชนกับเอกชน
2.3 ดอกเบี้ยทบต้น
ม.655 วางหลักไว้ว่า “ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ เว้นแต่ดอกเบี้ยค้างชำระไม่น้อยกว่าปีหนึ่ง และคู่สัญญากู้ยืมตกลงกันให้เอาดอกเบี้ยนั้นทบเข้ากับต้นเงิน ให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนที่ทบเข้ากันนั้นได้ แต่การตกลงนั้นต้องทำเป็นหนังสือ
กรณีมีประเพณีการค้าขายที่คำนวณดอกเบี้ยทบต้นในบัญชีเดินสะพัดก็ดี หรือการค้าขายอย่างอื่นทำนองเดียวกับบัญชีเดินสะพัดก็ดี ไม่ได้อยู่ในบังคับในวรรคหนึ่ง”
หลักกฎหมาย – ถ้าดอกเบี้ยค้างชำระยังไม่เกิน 1 ปี ห้ามนำมาคิดดอกเบี้ยทบต้น
- ถ้าดอกเบี้ยค้างชำระนานเกินกว่า 1 ปี ให้นำมาคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ แต่ต้อง
* คู่สัญญาต้องตกลงกันก่อนว่า ให้นำมาคิดดอกเบี้ยทบต้นได้
* ข้อตกลงนั้น ต้องทำเป็นหนังสือ
- กรณีตามวรรค 2 กฎหมายให้คิดดอกเบี้ยทบต้นได้
5. กู้ยืมเงิน แต่ยอมรับเอาทรัพย์สินอื่นแทนเงิน
กรณียืมเงินแต่ยอมรับเอาทรัพย์สินอื่นแทนเงินนั้น หมายความว่า เจตนาแรกของผู้กู้ยืมต้องการยืมเงิน แต่ปรากฏว่ามีการส่งมอบทรัพย์สินหรือสิ่งของอื่นแทนเงิน ซึ่ง ม.656 ได้วางหลักไว้ 2 กรณี คือ
(1) เจตนายืมเงินและได้ทำสัญญายืมเงิน แต่ผู้กู้ยืมยอมรับเอาทรัพย์สินอื่นแทนเงิน

(2) เจตนายืมเงินและได้รับเงินยืมไปแล้ว แต่ผู้ให้กู้ยืมยอมรับคืนทรัพย์สินอื่นแทนเงิน

ม.656 ว.1 วางหลักไว้ว่า “ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นแทนจำนวนเงินนั้น ให้คิดเป็นหนี้เงินค้างชำระโดยจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ”
หลักกฎหมาย – เจตนาเริ่มแรกต้องการกู้ยืมเงิน จึงตกลงทำสัญญากู้ยืมเงินกัน
- ผู้ให้กู้เสนอขอส่งมอบสิ่งของหรือทรัพย์สินแทนเงิน
- ผู้กู้ยอมรับข้อเสนอเช่นนั้นของผู้ให้กู้
- การใช้หนี้ ให้คิดเป็นหนี้เงินตามราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้น
- ต้องเป็นราคาท้องตลาดในเวลา และ ณ สถานที่ส่งมอบ
- ถ้าการชำระหนี้ผิดไปจากเงื่อนไขดังกล่าว ย่อมเป็นโมฆะ

ม.656 ว.2 วางหลักไว้ว่า “ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืม หนี้เป็นอันระงับไปเพราะการชำระเช่นนั้น ให้คิดเป็นจำนวนเท่ากับ
ราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ”
หลักกฎหมาย – เจตนาเริ่มแรกต้องการกู้ยืมเงิน จึงตกลงทำสัญญากู้ยืมเงินกัน
- ผู้กู้รับมอบเงินจำนวนตามสัญญาจากผู้ให้กู้ไปแล้ว
- เมื่อถึงกำหนดชำระ ผู้กู้เสนอขอส่งมอบสิ่งของหรือทรัพย์สินแทนเงิน
- ผู้ให้กู้ยอมรับข้อเสนอเช่นนั้นของผู้กู้
- การใช้หนี้ ให้คิดเป็นจำนวนสิ่งของหรือทรัพย์สินตามราคาท้องตลาด
- ต้องเป็นราคาท้องตลาดในเวลา และ ณ สถานที่ส่งมอบ
- ถ้าการชำระหนี้ผิดไปจากเงื่อนไขดังกล่าว ย่อมเป็นโมฆะ

ม.656 ว.3 วางหลักไว้ว่า “ความตกลงใดๆ ที่ขัดกับข้อความในวรรคก่อน เป็นโมฆะ”
(1) เป็นโมฆะเฉพาะข้อความนั้นๆ สัญญากู้ไม่เป็นโมฆะ
(2) ตัวอย่างข้อความที่เป็นโมฆะ
- ข้อตกลงว่า ถ้าผู้กู้ไม่นำต้นเงินและดอกเบี้ยมาชำระตามสัญญา ผู้กู้ยอมโอนที่นาแปลงนี้
ให้แก่ผู้ให้กู้เป็นกรรมสิทธิ์

- ข้อตกลงว่า เมื่อผู้กู้ไม่ใช้เงิน ต้องโอนสิทธิการเช่าให้แก่ผู้ให้กู้โดยไม่คำนึงถึงว่า สิทธิ
แห่งการเช่านั้นมีราคาเท่าใดในท้องตลาดในเวลาส่งมอบ

- ข้อสัญญาว่า ถ้าไม่ใช้เงินกู้คืน ผู้กู้ยอมโอนกรรมสิทธิ์ที่นานั้นให้

สัญญายืมใช้คงรูปและสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง มีข้อเหมือนกันหรือข้อแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ?
1. ข้อเหมือนกัน
(1) มีคู่กรณี 2 ฝ่าย คือ ผู้ยืมและผู้ให้ยืม
(2) ผู้ให้ยืมต้องส่งมอบทรัพย์สินให้ผู้ยืมใช้
(3) ผู้ยืมต้องส่งคืนทรัพย์สินเมื่อให้สอยเสร็จแล้ว

2. ข้อแตกต่าง
(1) ยืมใช้คงรูปนั้น กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินไม่โอน …..แต่ยืมใช้สิ้นเปลือง กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโอนไปยังผู้ยืมแล้ว
(2) ยืมใช้คงรูป ผู้ยืมใช้สอยทรัพย์สินได้เปล่าหรือไม่เสียค่าตอบแทน ……แต่ยืมใช้สิ้นเปลือง ผู้ยืมอาจใช้สอยทรัพย์สินโดยเสียค่าตอบแทน
(3) ยืมใช้คงรูป ผู้ยืมต้องส่งคืนทรัพย์สินที่ยืม ……แต่ยืมใช้สิ้นเปลือง ผู้ยืมไม่ต้องส่งคืนทรัพย์สินเดียว กัน แต่ต้องส่งคืนทรัพย์สินในประเภท ชนิด และปริมาณเดียวกันแทน
(4) ยืมใช้คงรูป เมื่อผู้ยืมตาย สัญญายืมย่อมสิ้นสุดลง ……แต่ยืมใช้สิ้น เปลือง เมื่อผู้ยืมตาย สัญญายืมมิได้สิ้นสุดลง สิทธิและหน้าที่ของผู้ยืมตกทอดสู่ทายาท

****************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น